จารึกวัดสบร่องขุย พย.54 เป็นจารึกที่ขุดพบได้ในโบราณสถานวัดร้างสบร่องขุย ต.ท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา เมื่อปีพ.ศ. 2526
ความสำคัญของจารึกหลักนี้มีเนื้อหาเล่าถึงเหตุการณ์ย้อนหลังไปในอดีตเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของสองกษัตริย์คือ พระญางำเมือง กษัตริย์แห่งเมืองพะเยาและพระญาร่วง(พ่อขุนรามคำแหง )กษัตริย์แห่งเมืองสุโขทัย หรืออาจรวมถึงพระญามังราย กษัตริย์แห่งเมืองเชียงใหม่ด้วยอีกพระองค์ แต่เป็นเพราะจารึกชำรุดแตกหักเสียหายเหลือเพียงเศษเสี้ยว จึงทำให้ข้อความไม่ครบสมบูรณ์ ดังนั้นพระนามของพระญามังรายอาจตกหล่นหายไป ซึ่งโดยเนื้อหาไปในทำนองสอดคล้องกับเรื่องราวความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์
อย่างไรก็ตามประเด็นที่ให้ความสนใจคือ พบการใช้คำว่า”ลาว”นำหน้าพระนามของพระญางำเมืองในจารึกหลักนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะพิเศษเพราะโดยทั่วไปหลักฐานที่พบในจารึกหรือเอกสารโบราณอื่นๆเช่น ตำนานหรือพงศาวดารมักจะใช้คำว่า”พระญา”นำหน้าพระนามกษัตริย์เสียมากกว่าที่จะใช้คำว่า “ลาว” ส่วนรายละเอียดคำอ่านจารึกปรากฏข้อความดังนี้
บรรทัดที่ 1 …..ลาวงำเมิง เ……….
2 …..ถามพระญาร่วงว่า ฉันนี้ท่านรู้มนต์…..
3 ….. รา พระญาร่วงว่า ผิอันท่านจัก…..
4 …..น ไหว้…..
จากประโยคที่ว่า “ลาวงำเมิง”หรือ”ลาวงำเมือง”นั้น ย่อมเป็นข้อยืนยันชัดเจนว่า “ลาว”เป็นคำเก่าแก่ที่ใช้กันในล้านนานานมาแล้วอย่างน้อยปีพ.ศ. 2041 และสันนิษฐานว่า น่าจะใช้กันมาตั้งแต่ยุคสมัยของพระญางำเมืองและใช้ต่อกันเรื่อยมา ความหมายแสดงออกถึง การยกย่องอย่างสูงและมีสถานภาพทางชนชั้นสังคมสูง เทียบเท่ากับคำว่า” ท้าว,พญา,เจ้า คือหมายถึง ผู้มีอำนาจสูงสุดหรือผู้เป็นใหญ่ ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือ กษัตริย์หรือเจ้าเมืองก็ได้ แต่การที่เราไม่ค่อยพบเห็นการใช้คำว่า “ลาว”นำหน้าพระนามกษัตริย์ในล้านนา เป็นไปได้ว่า ความนิยมใช้ลดลง หลังจากที่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแผ่ในล้านนาอย่างแพร่หลายช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาและมีอิทธิพลทำให้แนวความคิด คติความเชื่อและอุดมคติของสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนไป
กระทั่งเมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ความหมายดั้งเดิมของคำว่า”ลาว” ถูกแปลความหมายเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงกลายถ้อยคำที่มีความหมายต่ำต้อย แสดงออกถึง การดูถูกเหยียดหยามทางชนชาติอย่างชัดเจนสร้างความขมขื่นให้กับคนไทยในภาคเหนือและอีสานมายาวนาน
ข้อมูลอ้างอิง: – หนังสือ”ความเป็นมาของคำสยาม,ไทย,ลาวและขอม” จิตร ภูมิศักดิ์ – หนังสือ”ประชุมจารึกเมืองพะเยา”