จารึกพระญาสองแควเก่าลพ.24 แต่เดิมเป็นจารึกที่ขุดพบได้ในเมืองพะเยา ภายหลังถูกขนย้ายไปไว้ที่อำเภอริม จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่และวันเดือนปีที่พบไม่ปรากฏหลักฐาน ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จ.ลำพูน จารึกหลักนี้ลักษณะวัตถุเป็นหินทรายรูปใบเสมา สภาพชำรุดแตกหักเหลือเพียงท่อนบน จารึกเป็นอักษรฝักขาม จำนวน 1 ด้านมี 12 บรรทัดศักราชสร้างพ.ศ. 2017
เนื้อหาจารึกกล่าวถึง พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เชียงใหม่ทรงรับพระญาสองแคว(หรือพระญายุทธิษฐิระ)มาเป็นราชบุตรธรรมแล้วโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้พระญาสองแควเป็นเจ้าสี่หมื่นปกครองเมืองพะเยาในปีพ.ศ. 2017 และพระญาสองแควมีพระประสงค์จะสร้างพระราชสถานอยู่ที่บ้านหนองเต่า(ปัจจุบันอยู่ในบริเวณกว๊านพะเยา) เพราะเป็นสถานที่งดงาม แต่กลับทรงเปลี่ยนพระทัยสร้างให้เป็นสังฆารามถวายแก่พระสงฆ์ ซึ่งพระเจ้าติโลกราชก็ทรงยินดีในศรัทธาจึงอนุญาต
คำอ่านเดิม
1. ศักราชได้ 836 ปีมะเมียไทปีกาบซ-
2. ง้า เดือนสราวณะ ไทเดือนเก้า ออกเก้า
3. ค่ำ วันศุกร์ ไทวันเต่าสีได้ฤกษ์ 16 ชื่อ
4. วิสาขะ ยามแตรเมื่อค่ำ เจ้าเหนือหัว
5. เจ้าสี่หมื่นพระญาสองแควเก่า พระเป็-
6. นเจ้าเอาเป็นลูกให้มาเป็นเจ้ากินเมือง
7. ..เมืองพยาว มาสร้างบ้านพองเต่า
8. หื้อเป็นที่อยู่เห็นงามยินดีนักใคร่ไหว้
9. .วนสังฆาราม เอาเงินลายทาเชียง…
10. ..5,000 ไปให้เจ้าหมื่นช่างปู(กามก)
11. (แร)ก พระเป็นเจ้าให้เป็นค่าอารามนี้เ..
12. ……..อักษรชำรุด……………………………….
คำอ่านใหม่
1. ศักราชได้ 836 ปีมะเมียไทปีกาบซ-
2. ง้า เดือนสราวณะ ไทเดือนเก้า ออกเก้า
3. ค่ำ วันศุกร์ ไทวันเต่าสี ได้ฤกษ์ 16 ชื่อ
4. วิสาขะ ยามแตรเมื่อค่ำ เจ้าเหนือหัว
5. เจ้าสี่หมื่นพระญาสองแควเก่า พระเป็-
6. นเจ้าเอาเป็นลูกให้มาเป็นเจ้ากินเมือง
7. ในเมืองพยาว มาสร้างบ้านหนองเต่า
8. ไว้เป็นที่อยู่ เห็นงามยินดีนักใคร่ให้
9. เป็นสังฆาราม เอาเงินลายห้าเชียงค่า
10. 5,000 ไปให้เจ้าหมื่นช่างปู่กามถวาย
11. แก่พระเป็นเจ้าให้เป็นค่าอารามนี้ เจ้า
12. …………….อักษรชำรุด………………………..
มีประเด็นน่าสนใจคือ เหตุผลที่ต้องมีการอ่านจารึกและตีความใหม่ก็เพราะว่าเนื่องจากมีการค้นพบจารึกวัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยาเมื่อปีพ.ศ. 2550 ซึ่งเนื้อหาจารึกได้ระบุว่า วัดติโลกอาราม อยู่บริเวณหนองเต่าซึ่งหลักฐานดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานในพงศาวดารโยนกที่ระบุชื่อ” หนองเต่า ” เช่นเดียวกัน
ฉะนั้นจึงพอจะอนุมานได้ว่า คำอ่านในจารึกพระญาสองแควเก่า ลพ.24 ที่ว่า “บ้านพองเต่า” ก็น่าจะเป็น “บ้านหนองเต่า”มากกว่าและดูจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ข้อมูลภาพ: จารึกพระญาสองแควเก่า ลพ.24