ออกดอกเหลืองอร่าม เห็นแล้วนึกถึง แกงหน่อใส่น้ำปู ต้องมีผักผีปู่ย่ากับใบขิงแมงดา คนเมืองล้านนาจะรู้ทันที กลิ่นนี้หอม มีเมล็ดด้วย
“ผักปู่ย่า” มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ ทางภาคเหนือเรียก ผักปู่ย่า หนามปู่ย่า ทะเน้าซอง ภาคกลางเรียก ช้าเลือด ปราจีนบุรี และอุดรธานี อีสานเรียก ผักกาดย่า ที่นครพนมเรียกว่า ผักขะยา ที่เลยเรียก ผักคายา
คุณประโยชน์ทางด้านอาหาร
ส่วนที่เป็นผัก ได้แก่ ยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกของผักปู่ย่า ใช้รับประทานเป็นผักได้ เช่น ยอดรับประทานสดกับซุปหน่อไม้ ยอดอ่อนและใบอ่อนผลิออกในช่วงฤดูหนาว (เดือนตุลาคม-เดือนกุมภาพันธุ์) ชาวเหนือรับประทาน ยอดอ่อน ใบอ่อนของผักปู่ย่า ส่วนดอกและยอดอ่อนนำไปปรุงเป็น “ส้าผัก” ได้โดยปรุงร่วมกับมะเขือแจ้ ยอดมะม่วงและเครื่องปรุงรสหลายชนิด
ประโยชน์ในการเป็นพืชสมุนไพร
ยอดอ่อนและดอก มีรสเปรี้ยว ฝาดเผ็ดร่วมกัน จึงมีสรรพคุณ บำรุงเลือด แก้วิงเวียน และจากรายงานผลการวิจัยที่ค้นพบ พบว่า ในผักพื้นบ้านประเภทนี้ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงมีสรรพคุณในการลด หรือยับยั้งการสร้างเซลล์มะเร็งได้ดี
ภาพ/ Threeboy Home Intasarn
เรียบเรียงข้อมูลจาก งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม
ผ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่